มารยาททางสังคม

"มารยาททางสังคม"




มารยาท หรือ มรรยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ

ส่วนคำว่า มารยาทในสังคม จะหมายถึง กรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับมารยาททางสังคมมาเสนอ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ และประโยชน์ในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

- การกล่าวคำว่า “ ขอบคุณ ” เมื่อผู้อื่นให้สิ่งของ /บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่างๆให้ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขาหรือไม่ก็ตาม เช่น บริการเปิดประตูให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้เราในรถประจำทาง คนช่วยกดลิฟต์รอเรา หรือช่วยหยิบของที่เราหยิบไม่ถึงให้ เป็นต้น โดยปกติจะใช้คำว่า “ ขอบคุณ ” กับผู้ที่อาวุโสกว่า และใช้คำว่า “ ขอบใจ ” กับผู้อายุน้อยกว่าเรา แต่ปัจจุบันมักใช้รวมๆกันไป

- เอ่ยคำว่า “ ขอโทษ ” เมื่อต้องรบกวน /ขัดจังหวะผู้อื่น เช่น เขากำลังพูดกันอยู่ และต้องการถามธุระด่วน ก็กล่าวขอโทษผู้ร่วมสนทนาอีกคน แต่ควรเป็นเรื่องด่วนจริงๆ หรือกล่าวเมื่อทำผิดพลาด /ทำผิด หรือทำสิ่งใดไม่ถูก ไม่เหมาะสมโดยไม่ตั้งใจ เช่น เดินไปชนผู้อื่น หยิบของข้ามตัวหรือศีรษะผู้อื่น เป็นต้น

สำหรับคนไทย เมื่อเอ่ยคำว่า “ ขอบคุณ ” หรือ “ ขอโทษ ” ต่อผู้ที่อาวุโสกว่า เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ มักจะยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย เช่น กล่าวขอบคุณพร้อมยกมือไหว้พ่อแม่ที่ท่านซื้อของให้ เป็นต้น