มุ่งที่จุดแข็งของคนไทย


Post Today - คริสติน กรอทัส มาจากเยอรมนีเพื่อศึกษาเกี่ยวกับแผนงานของที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องการเจาะตลาดเมืองไทย ... เธอขอสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับการทำงานต่างวัฒนธรรม ผมเลยเชิญเธอมาเข้าสัมมนาของ ชองฟรองซัว ซึ่งเพิ่งทำการวิจัยแนวทางการทำงานของคนต่างชาติและคนไทย เขาเสนองานวิจัยของเขาในการสัมมนาที่ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ท่านสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.1-2win.net หลังสัมมนาผมและคริสตินคุยกัน


“คริสตินคุณบอกว่าเราน่าจะมุ่งความสนใจไปที่จุดแข็งของคนไทย แทนที่คิดจะเปลี่ยนคนไทยให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานตะวันตก ขยายความหน่อยครับ”

“คุณเกรียงศักดิ์ ค่านิยมดีๆ ของไทยหลายข้อ เช่น ความเกรงใจ มักถูกมองจากชาวตะวันตกว่าเป็นอุปสรรคทำให้งานช้า ดิฉันกลับมองตรงกันข้าม ดิฉันมองว่าค่านิยมมีส่วนดีอยู่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องระดมความคิดโดยการแสดงออกอย่างเปิดเผยถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดง คนไทยอาจจะระดมความคิดเห็นแบบสุภาพเรียบร้อย อาจจะผสมการเขียนความเห็นแทนที่จะพูดออกไปอย่างเดียว ในวัฒนธรรมที่คำนึงถึงความสุภาพอ่อนน้อมแบบไทยนั้น ระดมความคิดแบบก้าวร้าวอาจจะไม่เวิร์ก คนไทยมีจุดแข็งเรื่องความสนุก ความอยากรู้อยากเห็น ความยืดหยุ่น และมีอารมณ์ละเอียดอ่อน สิ่งเหล่านี้คือรากฐานของความคิดสร้างสรรค์มิใช่หรือคะ

เราอาจจะระดมความคิดด้วยการเขียนหรือการวาดภาพบ้าง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสมความสนุกสร้างความคิดใหม่ๆ มีโอกาสมากมายสำหรับให้คนไทยได้แสดงออก”

“น่าสนใจครับ หลายบริษัทข้ามชาติพยายามที่จะนำแนวทางการจัดการจากบริษัทแม่มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด การพูดคุยแบบเปิดเผยตรงไปตรงมาไม่น่าจะมีอะไรเสียหายนี่ครับ”

“ดิฉันคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน การที่เราพยายามเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยให้เข้ากับค่านิยมองค์กรของตะวันตกนั้น คนไทยอาจจะเสียอัตลักษณ์ของตนเองไปก็ได้”

“คริสติน ผมว่าในระยะยาวแล้วผู้แข็งแรงจะอยู่รอด ใครที่สร้างประสิทธิผลในงานได้ดีที่สุดก็จะชนะในการแข่งขัน ตามที่ ชาร์ล ดาร์วินส์ บอกไว้ในกฎของการอยู่รอดใช่ไหมครับ”

“ก็จริงค่ะ ดาร์วินส์ พูดถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอย่างนั้น นั่นคือสาเหตุว่าทำไมยีราฟถึงมีคอยาวเพื่ออยู่รอดโดยการกินใบไม้จากต้นไม้ที่ลำต้นสูง แต่ว่าในโลกทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าแข็งแรง เสียงดัง โน้มน้าวคนเก่ง จะอยู่รอด แต่ว่าต้องสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีด้วย เราปรับตัวโดยการคิดหาบันไดปีนขึ้นต้นไม้ เราปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่ออยู่รอด แต่ละท้องถิ่นมีต้นไม้ต่างกัน เมืองไทยมีสวน เมืองนอกมีป่า”

“อืมม์...น่าสนใจ แล้วคนไทยแบบพวกผมละครับ ที่ทำงานจนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการทำงานของชาวตะวันตกมาตลอดชีวิต”

“ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่ะ ในแต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมย่อยลงไปอีก ดิฉันมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจค่ะ

มีบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทยจัดสัมมนาเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม เขามอบหมายให้ทีมคนไทย และทีมคนญี่ปุ่นวางแผนการไปเที่ยวที่อยุธยา ทั้งสองทีมต้องระดมความคิดและจัดทำแผนงานขึ้นมาเสนอ ทั้งสองทีมถูกแบ่งให้ไปทำงานคนละห้องกัน ผ่านไป 10 นาที ทีมคนไทยก็กลับเข้ามาเสนอแผนงานเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ทีมญี่ปุ่นใช้เวลาเป็นชั่วโมง เมื่อวิทยากรถามทีมคนไทยว่าทำไมจึงใช้เวลาน้อย พวกเขาตอบว่า เราไม่ได้คิดอะไรมากมายครับ เราก็ไปที่จุดนัดพบก่อนตารางนัดหมายสองสามชั่วโมง แล้วกินข้าวกลางวันกัน เสร็จแล้วก็ออกเดินทางไปแล้วก็กลับ

ในขณะที่ทีมญี่ปุ่นศึกษาเส้นทางเดินทางน้ำทุกเส้นทางว่าเส้นทางใดมีประสิทธิภาพสูงสุด ความเชี่ยวของกระแสน้ำในแต่ละสายเป็นอย่างไร และถกเถียงกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งสองทีมมีวิธีการคิดและมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน เราต้องใช้จุดแข็งของแต่ละคนและแต่ละทีม พวกที่ไปก่อนและรับประทานอาหารกลางวันกันนั้น เขาอาจจะเหมาะกับงานที่ต้องใช้ความใจเย็นและยืดหยุ่น กลุ่มที่ลงรายละเอียดและวิเคราะห์เจาะลึกอาจจะเหมาะกับงานอีกแบบ”

“คริสตินหากเคสนี้ผมอาจจะเป็นแบบกลุ่มชาวญี่ปุ่น แล้วคุณล่ะ”

“ดิฉันอาจจะเป็นไทยในตอนกินข้าวกลางวัน ตอนเขียนรายงานฉันอาจจะเป็นอเมริกัน และคุยกับคุณตอนนี้ฉันอาจจะวิพากษ์แบบเยอรมันก็ได้ค่ะ”

ข้อมูลโดย : Post Today