การสร้างแรงจูงใจ


แรงจูงใจ คือแรงขับหรือสิ่งกระตุ้นให้บุคคลมุ่งแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการหรือจุดมุ่งหมายที่ต้องการ แรงจูงใจสร้างขึ้นมาได้ทั้งจากปัจจัยเชิงบวกและเชิงลบ ได้แก่

1. การแข่งขันและการร่วมมือ




2. การชมเชยและการตำหนิ

3. การให้รางวัลและการลงโทษ

แนวความคิดในเรื่องแรงจูงใจเพิ่งได้รับการนำมา
พิจารณาหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือเมื่อประมาณ 200 ปีมานี้เองโดยเริ่มจาก Frederick Taylor ซึ่งมองว่าคนงานมีแรงจูงใจเพียงสองประการ คือ เงิน และความกลัวที่จะถูกไล่ออกจากงาน จึงควรจ่ายค่าจ้างตามชิ้นงานหรือใช้กฎระเบียบควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อสร้างความหวาดกลัว แนวคิดของ Taylor ถูกหักล้างอย่างรุนแรงด้วยแนวคิดของ Elton Mayo ที่ว่า หากคนงานรับรู้ได้ว่าเขาได้รับการเอาใจใส่และให้โอกาสเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเป็นรงจูงใจอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม หลังจากนั้นก็มีแนวคิดเรื่องแรงจูงใจของนักคิดอีกหลายท่าน แต่สำหรับผมให้ความสำคัญกับแนวคิดของ Frederick Herzberg ในเรื่องทฤษฏีสองปัจจัยซึ่ง Herzberg ให้ความเห็นว่าแรงกระตุ้นมีสองแหล่ง คือ แรงกระตุ้นจากภายนอก กับ แรงกระตุ้นจากภายใน

แรงกระตุ้นจากภายนอก เป็นแรงกระตุ้นในทางลบ หมายถึงคนงานมีความไม่พอใจต่อแรงกระตุ้นนี้มากกว่าความพอใจ ถ้าองค์กรเน้นการส่งเสริมแรงกระตุ้นประเภทนี้ก็จะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจได้ไม่มากนักและไม่ยั่งยืน แรงกระตุ้นจากภายนอกที่ว่านี้เรียงตามลำดับความไม่พอใจจากมากไปหาน้อย ได้แก่ นโยบายและระเบียบขององค์กร ระบบการบังคับบัญชา ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา สภาพแวดล้อมในการทำงาน เงินเดือน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานความสัมพันธ์กับลูกน้อง สถานภาพทางสังคม ความมั่นคงในหน้าที่การงาน

แรงกระตุ้นจากภายใน เป็นแรงกระตุ้นในเชิงบวก นั้นคือคนงานจะมีความพอใจต่อแรงจูงใจนี้มากกว่าความไม่พอใจ และส่งผลเป็นแรงจูงใจที่มากกว่าและยั่งยืนกว่าแรงจูงใจจากภายนอก แรงจูงใจจากภายในเรียงตามลำดับความพอใจจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ความสำเร็จของงาน การได้รับการยอมรับ ความมีอิสระในการทำงาน ความรับผิดชอบต่องาน และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ขวัญและกำลังใจในการทำงาน เป็นอีกส่วนหนึ่งของแรงจูงใจที่องค์กรควรสร้างให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงาน ขวัญกำลังใจมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเป้าหมายของงาน กล่าวคือ คนงานจะมีขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้นถ้าเป้าหมายของงานที่เขาจะต้องทำนั้นมีความชัดเจน จำเพาะเจาะจง ท้าทาย ทำให้สำเร็จได้ มีรางวัลที่เหมาะสมหากทำได้สำเร็จ และมีความมั่นใจว่าระบบการพิจารณารางวัลนั้นมีความเสมอภาคและมีความเป็นธรรม นอกจากนั้น การได้รับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ การได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายหรือกิจกรรมที่ทำ ก็เป็นสิ่งที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจทั้งสิ้น